กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TED Fund ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) และ เครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) ดำเนินงานโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนไปสู่การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น และมุ่งเน้นสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศและเป็นโครงการสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการใช้พลังเยาวชนไทยเป็นกุญแจหลักในการขับเคลื่อนประเทศ พร้อมทั้งปฏิรูประบบการเรียนรู้สร้างประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน เปิดโอกาสให้ยุวชนนำความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ไปพัฒนาธุรกิจ พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และผู้ประกอบการยุคใหม่อีกด้วยเพื่อดำเนินงานสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรายใหม่ ให้สามารถดำเนินธุรกิจบนฐานขององค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเป็นตัวเร่งสำคัญ ในการเพิ่มปริมาณการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนและก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีความก้าวหน้า และยั่งยืน
เครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ หรือ TED Fellow คือ หน่วยงานพันธมิตรของกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) โดย เครือข่ายฯ TED Fellow มีหน้าที่ในการสรรหา คัดกรอง บ่มเพาะพัฒนาแผนธุรกิจ ให้คำปรึกษาทั้งด้านเทคโนโลยี การตลาด การเขียนข้อเสนอโครงการ และคำแนะนำต่างๆ แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่สนใจเข้าร่วมรับทุนสนับสนุนในโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) รวมถึงเป็นตัวกลางที่จะช่วยประสานงานระหว่างกองทุนฯ กับผู้ประกอบการได้อย่างใกล้ชิด
รายละเอียดเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow)
คลิกเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ
วัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น
- เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้นักศึกษา นักวิจัย ผู้ประกอบการ นักเรียนทุน อาจารย์ ที่อยู่ในเครือข่ายของมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา สามารถต่อยอดแนวความคิด พัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ ที่ช่วยผลักดันการสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่มีความเข้มแข็งและสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)
- เพื่อผลักดันมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial University)
- เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบนิเวศผู้ประกอบการ ตลอดจนพัฒนาเครือข่ายสนับสนุน Startup ในระดับภูมิภาค ได้แก่ พี่เลี้ยง ที่ปรึกษา นักลงทุน และความร่วมมือจาก ศิษย์เก่า กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มการค้าในพื้นที่ ให้เอื้ออำนวยต่อการจัดตั้งและเติบโตของ Startup
- เพื่อสร้างเวทีและเปิดโอกาสให้ Startup เข้าสู่ตลาด ตลอดจนสร้างให้เกิด Startup รุ่นใหม่
- เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาเกิดการสร้างธุรกิจจริง และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างกิจการ
รูปแบบของโครงการและการสนับสนุนทุน แบ่งเป็น 2 โปรแกรม ดังนี้
โปรแกรมที่ 1 IDEA : Ideation Incentive Program
สำหรับบุคคลธรรมดา และ นิสิต นักศึกษา ที่มีสัญชาติไทยและอยู่ระหว่างการศึกษาในสถาบันการศึกษาภายในประเทศไทย ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก หรือจบการศึกษามาแล้วไม่เกิน 5 ปี (นับจนถึงวันที่ยื่นขอรับการสนับสนุนทุน) จำนวนอย่างน้อย 3 ท่าน ซึ่งต้องเป็นสมาชิกของเครือข่ายฯ (TED Fellow)
เพื่อเป็นค่าพัฒนาต้นแบบ (Mockup) และแผนธุรกิจฉบับสมบูรณ์ ผ่านเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) ที่ได้รับการรับรอง ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการไม่เกิน 6 เดือน โดยกองทุนฯ จะให้การสนับสนุนทุนวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท โดยจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในสัดส่วนร้อยละ 100 ซึ่งหมวดค่าใช้จ่ายที่ให้การสนับสนุน มีดังนี้
- หมวดค่าใช้จ่ายในการจัดทำแผนธุรกิจ (วงเงิน 50,000 บาท)
- หมวดค่าใช้บริการเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ
- หมวดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาต้นแบบ
- หมวดค่าวิเคราะห์ทดสอบ
- หมวดค่าใช้จ่ายในการทดสอบตลาด
- หมวดค่าจ้างที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ
โปรแกรมที่ 2 POC : Pre-seed Stage หรือ Proof of Concept
สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีแผนจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทยที่มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ที่มีคุณสมบัติเป็นนิสิต นักศึกษา สัญชาติไทยและอยู่ระหว่างการศึกษาในสถาบันการศึกษาภายในประเทศไทย ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก หรือจบการศึกษามาแล้วไม่เกิน 5 ปี (นับจนถึงวันที่ยื่นขอรับการสนับสนุนทุน) จะต้องมีสัดส่วนการถือครองหุ้นในกิจการมากกว่าร้อยละ 30 และเป็นหนึ่งในกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของนิติบุคคล
แบ่งออกเป็น โปรแกรมย่อย 2 โปรแกรม สำหรับผู้ประกอบการตามข้อ ประกอบด้วย
โปรแกรมที่ 2.1 POC : Incubator Incentive Program
เพื่อพัฒนาต้นแบบ (Prototype) ซึ่งเป็นการพิสูจน์ความคิดใหม่ทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านธุรกิจ ผ่านเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการไม่เกิน 2 ปี โดยกองทุนฯ จะให้การสนับสนุนทุนไม่เกินร้อยละ 90 ของมูลค่าโครงการ ทั้งนี้วงเงินไม่เกิน 1,500,000 บาท ซึ่งหมวดค่าใช้จ่ายที่ให้การสนับสนุน มีดังนี้
- หมวดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาต้นแบบ
- หมวดค่าวิเคราะห์ทดสอบและการขอรับรองมาตรฐาน
- หมวดค่าใช้จ่ายในการทดสอบตลาด
- หมวดค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดเทคโนโลยี / การซื้อสิทธิ์ (สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท)
- หมวดค่าจ้างที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ (สูงสุดไม่เกินร้อยละ 30)
- หมวดค่าใช้บริการเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ
โปรแกรมที่ 2.2 POC : University Seed Grant Program
เพื่อพัฒนาต้นแบบ (Prototype) ซึ่งเป็นการพิสูจน์ความคิดใหม่ทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านธุรกิจ ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการไม่เกิน 2 ปี โดยกองทุนฯ จะให้การสนับสนุนทุนไม่เกินร้อยละ 90 ของมูลค่าโครงการ ทั้งนี้วงเงินไม่เกิน 750,000 บาท ซึ่งหมวดค่าใช้จ่ายที่ให้การสนับสนุน มีดังนี้
- หมวดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาต้นแบบ
- หมวดค่าวิเคราะห์ทดสอบและการขอรับรองมาตรฐาน
- หมวดค่าใช้จ่ายในการทดสอบตลาด
- หมวดค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดเทคโนโลยี / การซื้อสิทธิ์ (สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท)
- หมวดค่าจ้างที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ (สูงสุดไม่เกินร้อยละ 30)
รายการค่าใช้จ่ายที่ไม่สนับสนุน
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สินถาวร สิ่งก่อสร้าง เครื่องมือ หรือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต (ยกเว้นแม่แบบ แม่พิมพ์)
- ค่าวัสดุ อุปกรณ์ สำหรับสำนักงาน อาทิ โต๊ะ เก้าอี้ ตู้เก็บเอกสาร คอมพิวเตอร์ พริ้นเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์เครื่องเขียนต่าง ๆ
- ค่าจัดเลี้ยง อาหาร อาหารว่าง เครื่องดื่ม ค่าเช่าอุปกรณ์ เครื่องเสียง สถานที่ (ยกเว้นค่าเช่าพื้นที่แสดงสินค้าหรือบริการ)
- ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง พาหนะ การขนส่ง รวมถึงค่าพิธีการศุลกากร
- ค่าจ้างผลิต (Outsource) บุคคลธรรมดาที่เป็น (1) พนักงานของบริษัทผู้รับทุน (2) ผู้ถือหุ้น หรือกรรมการของบริษัทผู้รับทุน (ที่มีรายชื่อตามหนังสือรับรองบริษัท)
- ค่าจ้างผลิต (Outsource) นิติบุคคลที่มีกรรมการของบริษัท คนเดียวกันกับบริษัทผู้รับทุน (ที่มีรายชื่อตามหนังสือรับรองบริษัท)
- ค่าจ้างนักพัฒนาภายในบริษัท (In-house)
- ค่าธรรมเนียมการยื่นจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร หรือทรัพย์สินทางปัญญาอื่น ๆ
- ค่าตอบแทนการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา ที่นอกเหนือจาก Upfront fee เช่น ค่าตอบรายปี (Royalty fee) ค่าตอบแทนการใช้สิทธิขั้นต่ำ (Minimum fee) เป็นต้น
- ค่าจ้างบล็อกเกอร์โฆษณาสินค้า หรือรีวิวสินค้า
- ค่าจ้างที่เกี่ยวข้องกับการบริหารโครงการ ติดต่อประสานงาน
- ค่าจ้างผู้สอบบัญชี นักบัญชี เจ้าหน้าที่การเงิน
- ค่าที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ ด้านบัญชี การเงิน
ลักษณะสำคัญของโครงการที่สามารถขอรับทุนสนับสนุน
- เป็นโครงการที่มีการศึกษาความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี ธุรกิจ การตลาดและเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งผลกระทบต่อการพัฒนานวัตกรรมของประเทศซึ่งนำไปสู่การยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
- เป็นโครงการที่มีการพัฒนานวัตกรรม เพื่อนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์และเกิดประโยชน์ต่อภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยเฉพาะในสาขาที่ตอบสนองต่อทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งนำไปสู่การยกระดับศักยภาพการแข่งขัน และสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ
- เป็นโครงการที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ต่อยอดจากผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ สิทธิบัตร หรือเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิม และมีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์
- มีการพัฒนาธุรกิจบนฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีศักยภาพทางการตลาด สามารถ ต่อยอดเชิงพาณิชย์ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
- มีความต้องการพัฒนา ปรับปรุง หรือขยายผลด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
- มีผลลัพธ์หรือผลผลิตที่ชัดเจนภายในระยะเวลาที่รับการสนับสนุนทุน
- มีความร่วมมือด้านการพัฒนานวัตกรรมหรือการพัฒนาศักยภาพร่วมกับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัย
- มีความพร้อมและแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานโครงการและมีแนวโน้มที่จะประกอบธุรกิจต่อเนื่อง
- ไม่เป็นผู้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นในโครงการเดียวกันระหว่างยื่นข้อเสนอโครงการจนถึงพิจารณาโครงการ เว้นแต่ทุนนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ซ้ำซ้อนกับค่าใช้จ่ายที่ขอรับการสนับสนุนทุน