• 02 333 3700 ต่อ 4072 - 4075
  • saraban_tedfund@mhesi.go.th
  • กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

กระทรวง อว.- TED Fund โชว์ “ชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส ชีวภัณฑ์มาตรฐานสากล” ฝีมือยุววิสาหกิจเริ่มต้นช่วยเกษตรกรแก้โรคพืชที่เกิดจากเชื้อราได้ถึง 31 โรค ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้ 12 ชนิด

   

     เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกองทุนฯ ลงพื้นที่โครงการไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส ชีวภัณฑ์มาตรฐานสากล ณ ศูนย์ผลิตและการบริการชีวินทรีย์เกษตรและศูนย์สาธิตและพัฒนานวัตกรรมเกษตรเทิดพระเกียรติ ร.9 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับทุนโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) โปรแกรม “Proof of Concept” จากกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) มี น.ส.ปรารถนา อัตตะมณี กรรมการผู้จัดการบริษัท วลัยไบโอคอนโทรล จำกัด นำชมโครงการ

     น.ส.ปรารถนาฯ กรรมการบริษัท วลัยไบโอคอนโทรล จำกัด กล่าวว่า โครงการไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส ชีวภัณฑ์มาตรฐานสากล ที่ TED Fund ให้ทุนสนับสนุนเป็นชีวภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรที่สุดในปัจจุบัน ทั้งพืชขาดธาตุอาหาร ความเสียหายจากการเข้าทำลายของศัตรูพืช การเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมทางการเกษตรที่เกิดจากการดูแลพืชไม่เหมาะสม ทำให้ผลผลิตพืชด้อยคุณภาพและลดปริมาณลงเรื่อย ๆ เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการขาดทุนและขาดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพของเกษตรกร โครงการไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส ภายใต้การดูแลและบ่มเพาะโดยเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงผลิตชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส มาแก้ปัญหาดังกล่าว โดยนำเชื้อและสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการปลูกพืช 5 องค์ประกอบมาผสมกันได้แก่ 1. เชื้อรา Trichoderma asperellum NST-009 สำหรับควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา 2. เชื้อรา Metarhizium anisopliae WU-003 สำหรับควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยเน้นกลุ่มด้วงและหนอนผีเสื้อ 3. เชื้อรา Beauveria bassiana WU-002 สำหรับควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยเน้นกลุ่มเพลี้ย ไรแดง และหนอนผีเสื้อ 4. ธาตุอาหารรองที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต (แคลเซียมและแมกนีเซียม) เสริมความแข็งแรงของผนังเซลล์พืช และเพิ่มศักยภาพกลไกของเซลล์พืชในการต่อสู้กับศัตรูพืช และ 5. สารเสริมความแข็งแรงและกระตุ้นการงอกของสปอร์เชื้อราปฏิปักษ์ ทำให้สปอร์เชื้อราปฏิปักษ์ทั้ง 3 ชนิด มีอัตราการงอกของสปอร์สูงขึ้น (ความมีชีวิตรอด) และลดระยะเวลาของการงอกของสปอร์ช้าลง

     “ชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส ใช้กับพืชได้ทุกชนิดเพราะผ่านการทดสอบ โดยศูนย์ผลิตและบริการชีวินทรีย์เกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่าสามารถควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราได้ถึง 31 โรค เช่น โรครากเน่าโคนเน่า โรคแอนแทรคโนส โรคเน่าระดับดิน โรคใบจุด และโรคใบไหม้ เป็นต้น ในพืช 14 ชนิด เช่น ทุเรียน พืชตระกูลส้ม ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าว พืชผักต่าง ๆ และไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้ 12 ชนิด เช่น ด้วงแรดมะพร้าว เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง ไรแดง และหนอนผีเสื้อต่างๆ เป็นต้น และมีธาตุอาหารที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชทุกชนิด” น.ส.ปรารถนาฯ กล่าว

    สำหรับ วิธีการใช้งานรูปแบบผงสปอร์ ในพื้นที่แปลงปลูกพืชทำได้ง่ายๆ โดยผสมน้ำตามอัตราที่ฉลากกำหนดพร้อมทั้งคนให้เข้ากัน ก่อนพ่นบนต้นพืชทั้งต้นที่ต้องการป้องกันความเสียหายจากศัตรูพืช และต้นที่เป็นโรค โดนแมลงศัตรูพืชเข้าทำลาย หรือต้นไม่สมบูรณ์เพราะขาดธาตุอาหาร โดยพ่นให้ชุ่มทั่วต้นพืช ในช่วงเวลาตอนเย็น จะช่วยป้องกันการเกิดโรค ป้องกันแมลงศัตรูพืชเข้าทำลาย ป้องกันการขาดธาตุอาหาร และรักษาต้นพืชที่เป็นโรค โดนแมลงศัตรูพืชเข้าทำลาย และแสดงอาการขาดธาตุอาหารได้ การันตีความปลอดภัย ทั้งต่อผู้ใช้งาน ผู้บริโภค และสภาพแวดล้อมระดับสากลตามมาตรฐานองค์กร Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) โดยห้องปฏิบัติการมาตรฐาน Good Laboratory Practice (GLP) จากต่างประเทศ ดังนั้น ชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส  จึงเป็นนวัตกรรมชีวภัณฑ์ที่สุดล้ำและตอบโจทย์เกษตรกรมากที่สุดในปัจจุบัน

     ด้าน ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนในโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น หรือ TED Youth Startup กลุ่มเป้าหมาย คือ นิสิต นักศึกษา และบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 5 ปี มีการสนับสนุนทุนใน 2 โปรแกรม หลัก คือ 1. Ideation Incentive Program (IDEA) สนับสนุนทุนมูลค่า 100,000 บาท เป็นรูปแบบทุนให้เปล่าเพื่อให้ผู้ประกอบการได้พิสูจน์แนวความคิดและความเป็นไปได้ของแผนธุรกิจ ต่อมาคือ 2. โปรแกรม Proof of Concept (POC) โดยโปรแกรมนี้ จะสนับสนุนทุนตั้งแต่ 750,000-1,500,000 บาท เป็นรูปแบบทุนอุดหนุนสมทบบางส่วน เพื่อให้ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและนำไปพิสูจน์ความเป็นไปได้ด้านการตลาด

     และในปีงบประมาณ 2567 TED Fund มีข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเติบโตต่อไปอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ได้มีมติให้ TED Fund ดำเนินโครงการ TED Matching Fund ผ่านกลไกความร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)  โดย โครงการ TED Matching Fund จะสนับสนุนงบอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เติบโตในระยะ Seed ถึง Series – A วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท/ต่อโครงการ เพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการของธุรกิจให้เติบโต โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องได้รับการร่วมลงทุนและการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากผู้ร่วมลงทุนที่ขึ้นทะเบียนกับ TED Fund เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ ซึ่งผู้ขอรับทุนจะมีระยะเวลาการดำเนินโครงการไม่เกิน 5 ปี และเมื่อผู้ประกอบการดำเนินงานโครงการประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ และเป็นไปตามตัวชี้วัดของโครงการที่วางไว้ ผู้รับทุนต้องส่งคืนเงินตามมูลค่าที่ได้รับการสนับสนุน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราที่ผู้ให้ทุนกำหนด ผู้ที่สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://tedfund.mhesi.go.th/ หรือสอบถามข้อมูลการสนับสนุนทุนเพิ่มเติมได้ที่ Line OA : @tedfund 



 

 

 

 

 


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund)

นายวรุฒ กิ่งเล็ก โทรศัพท์ 085 344 9163

อีเมล์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.tedfund.mhesi.go.th

ติดต่อเรา

ที่อยู่ : กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม

       กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

       เลขที่ 75/47 อาคารพระจอมเกล้า (ห้อง 308) ถ.พระราม 6
       แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

อีเมล์ : saraban_tedfund@mhesi.go.th

โทรศัพท์ : 02 333 3700 ต่อ 4072 - 4075

โลโก้และแบนเนอร์สำหรับเว็บไซต์

แบนเนอร์สำหรับเว็บไซต์

แผนที่

© 2017 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม . All Rights Reserved.

 กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TED Fund เป็นกองทุนส่งเสริมและสนับสนุนทุนสำหรับนักศึกษา และผู้ประกอบการธุรกิจที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นพื้นฐาน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป

นโยบายคุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้นรวมถึงการวิเคราะห์การทำงานของเว็บไซต์เพื่อพัฒนาบริการของเรา ท่านสามารถกดปุ่ม "ยอมรับ" เพื่ออนุญาตให้ใช้คุกกี้ทุกประเภท