• 02 333 3700 ต่อ 4072 - 4075
  • saraban_tedfund@mhesi.go.th
  • กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

กระทรวง อว. และ TED Fund ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามผลงานนวัตกรรมเด่น 2 โครงการ ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ได้สำเร็จ

         

 

          ระหว่างวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2566 รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) และผู้บริหารกองทุนฯ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามความสำเร็จของผู้ประกอบการโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) ซึ่ง TED Fund ให้การสนับสนุนการใช้นวัตกรรม เพื่อเพิ่มคุณค่าสินค้าและบริการ และการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ในการพัฒนาธุรกิจที่มีศักยภาพในการทำซ้ำ และขยายตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

          กระทรวง อว. และ TED Fund ลงพื้นที่ ณ จักราวุธฟาร์ม เพื่อติดตามความสำเร็จของโครงการแรก คือ โครงการ“NaNo-k ผลิตภัณฑ์นาโนสเปรย์จากสารสกัดขมิ้นชันเพื่อส่งเสริมการหดตัวของแผลในปศุสัตว์” ของบริษัท วันเฮลท์อินโนเวชั่น จำกัด ดูแลและบ่มเพาะโครงการโดยเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยผลิตภัณฑ์นาโนสเปรย์จากสารสกัดขมิ้นชันฯ นั้น ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาโรคลัมปีสกินปศุสัตว์ในอุตสาหกรรมเลี้ยงโคนมและโคเนื้อ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2562 มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมถึง 18,850 ครัวเรือน และมีจำนวนโคนมอยู่กว่า 632,187 ตัว และมีปริมาณโคเนื้อถึงกว่า 5 ล้านตัว ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ประมาณ  800,000 ล้านบาท ต่อมาปี พ.ศ. 2564 ได้เกิดการระบาดใหญ่ของโรคลัมปีสกินโดยกระจายทั่วทุกภาคของประเทศ รวมทั้งการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย โดยมีอัตราการติดโรคสูงถึง 100% ทั้งสองโรคนี้ทำให้เกิดแผลที่ผิวหนังในลักษณะหลุมลึกอย่างรุนแรง โรคลัมปีสกินมีอัตราการป่วยอยู่ที่ 5–45% ซึ่งระยะเวลาในการฟื้นตัวจากโรคทั้งสองโรคขึ้นอยู่กับการหายของแผล ทำให้การเจริญเติบโตลดลง ปริมาณน้ำนมลดลง สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก รวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 200-1,000 ล้านบาทต่อปี และหากมีการควบคุมและการรักษาโรคที่เหมาะสมอาจลดความสูญเสียลงเหลือเพียงแค่ 50% เท่านั้น หรือไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี

 

          การรักษาโรคลัมปีสกินและโรคปากเท้าเปื่อยในปศุสัตว์นั้น มักมุ่งเน้นไปที่การใช้ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ เช่น ทิงเจอร์ไอโอดีน เจนเชี่ยนไวโอเล็ต และ แบคตาซิน ที่มีราคาถูกเท่านั้น โดยไม่มีการใช้ยาเรียกเนื้อชนิดต่างๆ ซึ่งมีราคาแพง จึงทำให้การรักษาแผลในโรคทั้งสองใช้เวลานานมากกว่าปกติ นอกจากนี้การใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีบางชนิดอาจทำให้เกิดสารตกค้างในผลิตภัณฑ์สัตว์และไม่สามารถบริโภคได้ จึงไม่เหมาะสำหรับการใช้รักษาแผลในปากทาง ทีมวิจัยของบริษัท วันเฮลท์อินโนเวชั่น จำกัด จึงได้นำเสนอ NaNo-K: ผลิตภัณฑ์นาโนสเปรย์จากสารสกัดขมิ้นชัน กับทาง TED Fund โดยผลิตภัณฑ์ได้ประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตครีมรักษาแผลในปศุสัตว์ที่มีส่วนประกอบสำคัญเป็นสารสกัดจากขมิ้นชัน ตลอดจนการใช้สารห่อหุ้มสารสำคัญด้วย cyclodextrin เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของสารสกัดขมิ้นโดยเพิ่มการละลายและเพิ่มความคงตัวของสารออกฤทธิ์โดยการห่อหุ้มทำให้ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ดียิ่งขึ้น สำหรับการนำมารักษาแผลทั้งสองชนิดในปศุสัตว์ และสามารถเร่งการหายของแผลโดยการฆ่าเชื้อและเร่งสร้างเนื้อเยื่อ โดยมีราคาถูกกว่ายาสมานแผลที่มีขายในท้องตลาดเพื่อให้นำมาใช้ในทางปศุสัตว์

          ต่อมาคณะผู้บริหารฯ ลงพื้นที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อติดตามโครงการพรี-ไอออนิคส์ (Pre-ionics) : ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยไฮโดรอินทรีย์แม่นยำ” ของบริษัททิวา อินโนเวท จำกัด โดยมีอุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกษตรและอาหาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ในฐานะเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) ดูแลในการสร้างนวัตกรรมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบใหม่ ทำให้ปุ๋ยอินทรีย์สามารถปรับสูตร N-P-K ในระดับโมเลกุลได้อย่างแม่นยำตามความต้องการของพืช อย่างที่ปุ๋ยอินทรีย์ไม่เคยมีมาก่อน โดยแนวคิดการสร้างนวัตกรรมนี้อยู่บนพื้นฐานของ BCG Model ในส่วนของ Circular Economy เลือกใช้วัตถุดิบจากของเหลือทิ้งทางการเกษตร และอุตสาหกรรมประมง เช่น เหง้ามันสำประหลัง มะนาวตกเกรด กระดูกปลาทูน่า กากถั่วเหลือง เป็นต้น  นำมาผลิตด้วยเทคโนโลยีการสกัด และคัดแยกเฉพาะโมเลกุลไอออนของธาตุอาหารพืช  โดยไม่ต้องรอการย่อยสลายจากจุลินทรีย์อีกต่อไป ด้วยนวัตกรรมการผลิตแบบใหม่นี้ทำให้การผลิตปุ๋ยอินทรีย์เร็วกว่าการหมักแบบเดิมมากถึง 10 เท่า อีกทั้ง น้ำปุ๋ยที่ได้ยังไร้กลิ่นเหม็น ซึ่ง พรี-ไอออนิคส์ บางสูตรกลับมีกลิ่นหอมอีกด้วย จึงทำให้พรี-ไอออนิคส์ ใช้งานได้ง่าย เหมาะสมต่อการปลูกพืชอินทรีย์ชนิดต่าง ๆ ได้ สามารถนำไปใช้ได้ทั้งระบบไฮโดรโปนิกส์ และการปลูกพืชโดยใช้ดิน หรือวัสดุเพาะปลูกทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใกล้เคียงกับการใช้ปุ๋ยเคมีทั่วไป

          สำหรับผลิตภัณฑ์พรี-ไอออนิคส์ได้ผ่านการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) ภายใต้โครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) ในโปรแกรม“การพัฒนาแนวคิดเพื่อสร้างรูปแบบธุรกิจนวัตกรรม (Ideation Incentive Program) ประจำปี  2563  ทำให้ได้แนวคิดถึงความเป็นไปได้ในการสร้างธุรกิจจากงานวิจัยนี้ และต่อยอดไปยังการได้รับสนับสนุนทุนอีกหนึ่งทุน คือโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup ) ในโปรแกรม Proof of Concept (POC) ประจำปี 2564 จากกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดจริงได้อย่างมีศักยภาพ จนกระทั่งเกิดการวางจำหน่ายในท้องตลาดจริง

 

 

  


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund)

นายวรุฒ กิ่งเล็ก โทรศัพท์ 085 344 9163

อีเมล์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.tedfund.mhesi.go.th

ติดต่อเรา

ที่อยู่ : กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม

       กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

       เลขที่ 75/47 อาคารพระจอมเกล้า (ห้อง 308) ถ.พระราม 6
       แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

อีเมล์ : saraban_tedfund@mhesi.go.th

โทรศัพท์ : 02 333 3700 ต่อ 4072 - 4075

แผนที่

โลโก้และแบนเนอร์สำหรับเว็บไซต์

แบนเนอร์สำหรับเว็บไซต์

© 2017 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม . All Rights Reserved.

 กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TED Fund เป็นกองทุนส่งเสริมและสนับสนุนทุนสำหรับนักศึกษา และผู้ประกอบการธุรกิจที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นพื้นฐาน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป

นโยบายคุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้นรวมถึงการวิเคราะห์การทำงานของเว็บไซต์เพื่อพัฒนาบริการของเรา ท่านสามารถกดปุ่ม "ยอมรับ" เพื่ออนุญาตให้ใช้คุกกี้ทุกประเภท