• 02 333 3700 ต่อ 4072 - 4075
  • saraban_tedfund@mhesi.go.th
  • กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

TED Fund ลงพื้นที่ภาคเหนือ โชว์ศักยภาพแหล่งทุนและความรู้ พาผู้ประกอบการก้าวสู่ความสำเร็จ

TED Fund ลงพื้นที่ภาคเหนือ โชว์ศักยภาพแหล่งทุนและความรู้ พาผู้ประกอบการก้าวสู่ความสำเร็จ เปิดธุรกิจจากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ชุดสกัดดีเอ็นเอสกัดเก่ง และเครื่องประเมินสภาพน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ เผย ปี65 ตั้งเป้ามอบทุนกว่า 120 ล้าน       

 

ระหว่างวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TED Fund ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดพะเยาและเชียงราย เพื่อติดตามความผลสำเร็จการพัฒนาผู้ประกอบการ ที่ได้รับการจัดสรรเงินสนับสนุนทุนเทคโนโลยีและนวัตกรรม ประกอบด้วย โครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) ที่มหาวิทยาลัยพะเยา อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา และโครงการเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ (รุ่นที่ 2) ที่ ต.ป่าแงะ อ.ป่าแดด จ.เชียงราย

         ดร.ชาญวิทย์ เปิดเผยว่า จากที่ TED Fund ได้มุ่งดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “แหล่งเงินทุนและองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ” ได้ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นิสิต นักศึกษา หรือผู้ที่จบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาไม่เกิน 5 ปี หรือบุคลากรในสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัย หรือผู้ประกอบการ SMEs หรือ Startup โดยมีผู้ประกอบการที่ได้รับทุนสนับสนุน แบ่งเป็นช่วงปี 2561-2562 ให้การสนันบสนับสนุนทุนทั้งหมด 199 โครงการใน 9 กลุ่มโครงการ มูลค่ากว่า 324 ล้านบาท และช่วงปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้ให้การสนับสนุนทุนในกลุ่มโครงการ TED Youth Startup โปรแกรม Ideation Incentive Program (IDEA) และโปรแกรม Proof of Concept (POC) ไปแล้วกว่า 300 โครงการ ด้วยวงเงินสนับสนุนทุนกว่า 224 ล้านบาท

        “จากการให้ทุนได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เห็นได้จากการทำงานตลอดระยะเวลา 5 ปี ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งทางตรงและทางอ้อม มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท สำหรับการดำเนินงานตามแผนของ TED Fund ในปีงบประมาณ 2565 ได้ตั้งเป้าจะให้ทุน TED Youth Startup โปรแกรม IDEA จำนวน 150 โครงการ ภายใต้กรอบวงเงิน 15 ล้านบาท และทุน TED Youth Startup โปรแกรม POC จำนวน 75 โครงการ ภายใต้กรอบวงเงิน 112.5 ล้านบาท ผ่านแนวทางการสรรหาผู้ประกอบการเพื่อขอรับทุนอุดหนุน 3 แนวทาง คือ 1. สรรหาโดยการเปิดรับสมัครตรงผ่าน TED Fund 2. สรรหาโดยเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) และ 3. สรรหาในกิจกรรม Road Show และการประกวดเวทีต่าง ๆ ภายใต้หลักการพิจารณาที่สำคัญคือ มีการพัฒนาธุรกิจบนฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีศักยภาพทางการตลาด สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และมีความต้องการพัฒนา ปรับปรุงหรือขยายผลด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีผลลัพธ์หรือผลผลิตที่ชัดเจนภายในระยะเวลาที่รับการสนับสนุนทุน รวมถึงมีความพร้อมในการร่วมลงทุนในลักษณะที่เป็นงบประมาณ (In cash) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10% ของมูลค่าโครงการ

         ด้าน นายธนพัฒน์ แพ่งเกษร  ผู้ก่อตั้งธุรกิจสกัดเก่ง (ชุดสกัดดีเอ็นเอที่ไม่ต้องอาศัยเครื่องปั่นเหวี่ยง) กล่าวว่า ได้เข้าร่วมกับ TED Fund ภายใต้โครงการ TED Youth Startup โปรแกรม IDEA และได้รับการอนุมัติทุนในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 และสิ้นสุดโครงการเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564  โดยได้รับทุนอุดหนุนจาก TED Fund จำนวน 100,000 บาท เพื่อใช้พัฒนาแผนธุรกิจชุดสกัดเก่ง ที่ถือเป็นการปฏิวัติกระบวนการสกัดดีเอ็นเอ ด้วยเป็นอุปกรณ์สกัดดีเอ็นเอแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ที่แตกต่างจากชุดสกัดดีเอ็นเอในท้องตลาด คือ เป็นชุดดีเอ็นเอที่ไม่ต้องใช้เซนตริฟิวจ์ หรือเครื่องมืออื่น ๆ เข้ามาช่วย ทำให้สามารถสกัดดีเอ็นเอได้ทุกที่แม้ไม่มีเครื่องเซนตริฟิวจ์ในห้องปฏิบัติการที่มีทุนต่ำก็สามารถสกัดได้

         “สำหรับความต้องการใช้ชุดสกัดดีเอ็นเอในตลาดโลก จากรายงานของ marketsandmarkets.com ชี้ว่า ปี 2019 ตลาดชุดสกัดดีเอ็นเอมีมูลค่าถึง 3.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีการคาดการณ์การเติบโตในปี 2024 ถึง 4.84 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเห็นได้ว่า ธุรกิจชุดสกัดดีเอ็นเอ ยังคงเป็นธุรกิจที่มีการเติบโต สำหรับผลิตภัณฑ์ “ชุดสกัดเก่ง” ได้ออกแบบให้ตอบสนองผู้ใช้งานทั้ง 3 กลุ่ม โดยมี 1) “ชุดสกัดเก่ง เพื่อการเรียนรู้” ออกแบบมาให้เหมาะกับใช้สำหรับการเรียนการสอน ผู้ใช้จะได้เห็นขั้นตอนทีละขั้นของการสกัดดีเอ็นเอ ทำให้เกิดความเข้าใจถึงหลักการได้อย่างชัดเจน 2) “ชุดสกัดเก่ง เพื่อธุรกิจ” ออกแบบให้มีจำนวนขั้นตอนที่ลดลง ไม่ซับซ้อน ทำได้ไว เหมาะสำหรับห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยที่มีลักษณะงานเป็นงานประจำ 3) “ชุดสกัดเก่ง ณ จุดตรวจ” ออกแบบให้สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย พร้อมกันนี้ยังมีการต่อยอดธุรกิจ โดยล่าสุดได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนโครงการ TED Youth Startup โปรแกรม POC มูลค่า 1.5 ล้านบาท จาก TED Fund ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนในโปรแกรม IDEA ขณะนี้อยู่ระหว่างรอลงนามสัญญา รวมถึงยังได้รับเงินลงทุนเพิ่มเติมจาก Angel Fund อีกด้วย” ธนพัฒน์ กล่าว

         ขณะที่ นายศุขมิตร ทีฆะเสนีย์ บริษัท ไอซีเอ็ม อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด ผู้ก่อตั้งธุรกิจเครื่องประเมินสภาพน้ำ กล่าวว่า ได้เข้าร่วมกับ TED Fund ภายใต้โครงการเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ (รุ่นที่ 2) และได้รับการอนุมัติทุนอุดหนุนในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 และสิ้นสุดโครงการเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 โดยได้รับทุนอุดหนุนจาก TED Fund จำนวน 1,775,000 บาทเพื่อพัฒนาเครื่องประเมินสภาพน้ำ อันเป็นอุปกรณ์สำคัญในการเพาะพันธ์เลี้ยงสัตว์น้ำทุกชนิด ทั้งน้ำเค็มและน้ำจืด

        “เครื่องประเมินสภาพน้ำที่ผลิตขึ้น ใช้งานได้ง่ายด้วยระบบหน้าจอสัมผัสในการสั่งงาน และมีตัวทุ่นลอยน้ำที่ใช้พลังงานโซล่าเซลล์ อีกทั้งยังมีฟังก์ชั่นฉุกเฉินแจ้งเตือนผ่านทางระบบไลน์มือถือทำให้ทราบโดยทันที ช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำตาย จากที่ได้นำเครื่องต้นแบบนำไปทดสอบกับฟาร์มลูกค้า ทำให้ช่วยลดงานภายในฟาร์มไปถึง 60% และค่าไฟฟ้าลดลงถึง 7-12% ประหยัดเวลาในการเฝ้าดูแลบ่อเพาะพันธุ์เลี้ยงสัตว์น้ำ และฟาร์มสัตว์น้ำ สามารถเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำได้มากขึ้น และเพิ่มรายได้ให้กับเจ้าของฟาร์มเพิ่มขึ้นประมาณ 20% เนื่องจากค่าล่วงเวลาพนักงานดูแลบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำลดลงจากเดิม จำนวนพนักงานดูแลรอบดึก 3 คน เป็น 1 คน และมีประสิทธิภาพ ในส่วนความก้าวหน้าของการดำเนินธุรกิจ ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างมาก ได้มีการสั่งซื้อรวมทั้งยังได้ร่วมมือกับหอการค้าจังหวัดพะเยา เพื่อผลักดันการใช้เครื่องประเมินสภาพน้ำกับเกษตรกรของจังหวัดพะเยา” นายศุขมิตร กล่าวในที่สุด


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund)

นายวรุฒ กิ่งเล็ก โทรศัพท์ 085 344 9163

อีเมล์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

www.tedfund.mhesi.go.th

ติดต่อเรา

ที่อยู่ : กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม

       กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

       เลขที่ 75/47 อาคารพระจอมเกล้า (ห้อง 308) ถ.พระราม 6
       แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

อีเมล์ : saraban_tedfund@mhesi.go.th

โทรศัพท์ : 02 333 3700 ต่อ 4072 - 4075

โลโก้และแบนเนอร์สำหรับเว็บไซต์

แบนเนอร์สำหรับเว็บไซต์

แผนที่

© 2017 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม . All Rights Reserved.

 กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TED Fund เป็นกองทุนส่งเสริมและสนับสนุนทุนสำหรับนักศึกษา และผู้ประกอบการธุรกิจที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นพื้นฐาน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป

นโยบายคุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้นรวมถึงการวิเคราะห์การทำงานของเว็บไซต์เพื่อพัฒนาบริการของเรา ท่านสามารถกดปุ่ม "ยอมรับ" เพื่ออนุญาตให้ใช้คุกกี้ทุกประเภท